เรื่องเก่าเล่าใหม่ EP15
โดย : โบ๊ท-มหาสมุทร สายสวรรค์
อ่าน เรื่องเก่าเล่าใหม่ EP14 “ทัชเค้นท์ อุซเบกิสถาน-บางกอก ไทยแลนด์”
วันที่ 21 มิถุนายน 2559 : สวัสดีครับ กระผมนายโบ๊ท-มหาสมุทร สายสวรรค์ รับช่วงบรรยายการเดินทางของชาวคณะไฮลักซ์ รีโว่ คาราวาน ทริป บทพิสูจน์จริงระดับโลก ในคราวนี้ต่อจากคุณก้องเกียรติ ศรีทับทิม ที่บินกลับเมื่อคืนวันที่ 19 มิถุนายน นะครับ เป็นการเปลี่ยนทีมระหว่างผลัดที่ 2 และ 3 โดยที่โบ๊ทเองนั้นอยู่ในขบวนมาตั้งแต่วันแรกที่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ คือวันที่ 3 มิถุนายน 2559 สำหรับที่ทัชเค้นท์ก็มีการหยุดพักท่องเที่ยวของผลัด 2 และผลัด 3 พองามตามท้องเรื่อง รวมทั้งการตรวจเช็คสภาพรถ แล้วมาล้อหมุนอีกทีในวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 19 ของการเดินทางอันยาวไกล วันนี้จะโฉบไปที่เมืองซามาร์คานด์ Samarqand แล้วแว้บเที่ยวที่นั่น จากนั้นก็ซิ่งเจ้ารีโว่ไปต่อที่เมืองบูคารา Bukara จุดหมายปลายทางของวัน
เวลา 7 โมงเช้า ออกมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหน้าที่พัก จากนั้นก็ได้เวลาล้อหมุน ไปลุ้นระหว่างทางกันต่อ ว่าจะเจออะไรบ้าง ไปทันอย่างที่ตั้งใจ หรือจะได้เห็นอะไรที่แปลกตากันบ้างหรือเปล่า ก่อนเดินทางก็แวะเติมน้ำมันกันเสียหน่อย
เส้นทางเป็นถนนสี่เลนซะส่วนใหญ่ สองข้างทางมีการปลูกพวกต้นฝ้ายเป็นระยะ อากาศร้อนและค่อนข้างแห้งแล้ง สิ่งที่ทำได้คือเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ และดื่มด่ำกับบรรยากาศสองข้างทางกันไป ถึงแม้มันจะไม่ได้สวยโดนใจ แต่มันก็มีอะไรน่าดู ทั้งวิถีชีวิตคนท้องถิ่น กับกลิ่นอายชนบท บางช่วงเป็นทิวเขาสลับกับที่ราบ คาราวานรีโว่ก็มีการแวะพักบ้าง
เนื่องจากวันนี้ต้องทำเวลาตีตื้น เพราะไม่ได้อยากแค่ผ่านเมืองซามาร์คานด์ แต่อยากจะแวะไปสัมผัสเมืองนี้กันด้วย จึงมีการเร่งความเร็วพอสมควร ซึ่งเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของไฮลักซ์ รีโว่ ตอบสนองต่อสถานการณ์แบบนี้ได้ดี จากการต้องเร่งความเร็วแข่งกับเวลา รวมไปถึงต้องระวังรถเจ้าถิ่นอีกด้วย
จนในที่สุดเวลาประมาณบ่ายโมงก็มาถึงเมืองซามาร์คานด์ แวะรับประทานอาหารพื้นเมืองภายในห้องอาหารสุดหรูจนอิ่ม จากนั้นก็ได้เวลาไปยังสถานที่สำคัญประจำเมือง ก่อนอื่นขอแนะนำให้รู้จักเมืองนี้คร่าวๆ นะครับ เมืองซามาร์คานด์ Samarqand หรือ เรียกแบบไทยๆ ว่าเมือง “สมารขัณฑ์” เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากทัชเค้นท์ Tashkent เคยเป็นแคว้นหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ มีชื่อในอดีตว่ามาราคานดา Marakanda พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราช เคยนำกองทัพกรีกมายึดครองเมืองนี้ และได้แต่งงานกับสาวพื้นเมืองนามว่าโรแซนา Roxana หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้กองทัพเติร์ก, อาหรับ และมองโกล
กองทัพอาหรับเข้ามาพร้อมกับศาสนาอิสลาม ซามาร์คานด์ หรือ สมารขัณฑ์ จึงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ อย่างบูคาราที่เดี๋ยวจะไปนอนที่นั่นกัน นั่นก็คือ ใครมาทีก็เผาเมืองที แล้วก็สร้างใหม่ ชีวิตเมืองนี้จัดว่าน่าสงสารพอตัว
ซามาร์คานด์ ที่เห็นในปัจจุบัน เป็นผลงานอำนวยการสร้างโดยนักรบยอดขุนพลเอมีร์ ติมูร์ โดยติมูร์เลือกซามาร์คานด์เป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิติมูริด Temurid ซึ่งแผ่ขยายไปถึงดินแดนอาหรับ อินเดีย เปอร์เซีย ท่านเตรียมทำสงครามเพื่อบุกจีน แต่เสียชีวิตลงกลางทางซะก่อน ทุกที่ที่ไปถึงจะกวาดต้อนช่างฝีมือดีกลับมายังซามาร์คานด์ เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานที่ใหญ่โตมโหฬาร ประดับประดาอย่างวิจิตรพิสดาร ปานประดุจมหานครโรมแห่งเอเซียกลาง อะไรยังงั้นกันเลยทีเดียว
เมืองนี้ตั้งอยู่บนจุดตัดเส้นทางการค้าในอดีต โดยมีแม่น้ำเซรัฟฟาน ไหลผ่าน และอยู่บนเส้นทางสายแพรไหมมายาวนานบานตะไทกว่า 2,500 ปี เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุคเฟื่องฟูของเส้นทางสายไหม และสถานที่แรก ที่จะได้ไปชมกันก็คือ …
จตุรัสรีจีสตาน Registan Square อันโด่งดัง เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวอุซเบกิสถาน ล้อมรอบสามด้านด้วยมัดดารอซะฮ์ Madrasah (ภาษาอาหรับ-สถานศึกษาทั้งของศาสนาและฆราวาส) ขนาดใหญ่ งดงามด้วยงานประดับแผ่นกระเบื้องสีสดจากบนลงล่าง มีโดมสีเทอร์ควอยส์อันโดดเด่น โดยผู้สร้างคือข้าหลวงชาวอุซเบ นามว่า ยาลังตุช บาคาดูร์ แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นตลาดชุมทางการค้า ที่ถนนหกสายภายในเมืองตัดมาบรรจบกัน ต่อมาจึงแปรเปลี่ยนเป็นลานสวนสนามของกองทัพ และลานประหารชีวิตนักโทษ
ชาวคณะไฮลักซ์ รีโว่ คาราวาน ทริป บทพิสูจน์จริงระดับโลก มีเวลาคนละหนึ่งชั่วโมงในการสำรวจที่นี่ แค่สัมผัสแรกที่ได้เห็น ก็เรียกเสียงชัตเตอร์กันได้ทันที ถึงแม้แดดที่มีมันจะร้อนมาก แต่ก็ไม่มีใครอุดอู้อยู่ในร่ม ทุกคนเดินเล่นเก็บภาพอย่างมีความสุข สถานที่แห่งนี้มีภูมิหลังของประวัติศาสตร์อันยาวนาน ถึงแม้เวลาจะผ่านมานาน ก็ยังทิ้งความสวยงามและความรู้สึกกลิ่นอายของความเป็นโบราณสถานที่สำคัญเอาไว้ ด้านในอาคารต่างๆ เป็นร้านขายของที่ระลึก แต่บรรยากาศก็ยังโอเค
เมื่อได้เวลาจึงออกเดินทางกันต่อ เพื่อไปยังที่หมายสุดท้ายของวัน นั่นคือเมืองบูคารา ชาวคณะไฮลักซ์ รีโว่ คาราวาน ทริป บทพิสูจน์จริงระดับโลก จากแดนไทยที่ตอนนี้มาไกลถึงอุซเบ กำลังเดินหน้าทำสถิติต่อไป เราได้ออกจากเมืองซามาร์คานด์ แล้วมุ่งหน้าต่อไปอย่างทันใจ ระหว่างทางที่ไป สองข้างทางมีเขตชนบทมากขึ้น เราแวะพักกันเป็นระยะ เข้าห้องน้ำข้างทางกันบ้าง สิ่งที่ต้องลุ้นคือเราอยากถึงกันก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน เพื่อจะได้ฟินกับเมืองบูคารา เพราะพรุ่งนี้ต้องข้ามแดน ออกกันแต่เช้า คงไม่มีเวลาไปเยือนแน่นอน แต่ระหว่างทางก็ได้ผ่านเขตกำแพงเมืองเก่า ซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมของคาราวานในอดีต ที่จะมาแวะพักกันที่นี่ เราจึงเข้าไปเก็บภาพกันเป็นที่ระลึก ให้ระทึกใจเล่นๆ ก่อนจะโบกมือลา แล้วมุ่งหน้าต่อไป จนถึงปลายทางที่เมืองบูคารา
Bukara บูคารา หรือ Bukhara เป็นเมืองโอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย ชื่อเมืองบูคาราเชื่อว่าอาจจะมาจากภาษาเปอร์เซียโบราณว่าบูคารัค Bukharak ซึ่งแปลว่าสถานที่แห่งความสุข ความโชคดี เมืองนี้เป็นจุดศูนย์กลางสำคัญทางการค้าบนเส้นทางสายแพรไหม เพราะเป็นจุดตัดของถนนซึ่งทอดตรงมาจาก เมิฟว์ กูร์กันจ์ เฮรัต คีวา (หัวเมืองด้านตะวันตกของอุซเบ ลงมาถึงอัฟกานิสถาน) รวมไปถึงสมารขัณฑ์ และยังเป็นจุดแวะพักของกองคาราวานเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามในเอเซียกลาง เป็นเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้ และนี่คือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ยังมีลมหายใจ โดยมีอายุมากกว่า 2,500 ปีก่อน ในยุครุ่งเรืองที่สุด บูคารามีมัดดารอซะฮ์ถึง 250 แห่ง หอมินาเรต Minaret กว่า 200 หลัง และมัสยิด Masjid เท่ากับจำนวนวันในหนึ่งปี
เรามาถึงเมืองนี้ตอนฟ้าใกล้จะมืดแล้ว กลุ่มนึงแยกไปทานข้าวในเมือง ส่วนอีกกลุ่มก็ไปดูแสงสุดท้ายที่จตุรัสที่สำคัญที่สุดในเมือง จากจุดจอดรถ เราเดินไปตามถนนมีฝุ่นคลุ้งเล็กน้อยภายในเขตเมืองเก่า ผ่านตรอกน้อย ซอยเล็ก ถามทางชาวบ้านไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาถึงจตุรัสหลักของเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยมัสยิด และสัญลักษณ์ของบูคารา นั่นคือ เสามินาเรต
ในศาสนาอิสลามจะนิยมสร้างมินาเรตขึ้นข้างๆมัสยิด เพื่อทำหน้าที่ประกาศเรียกให้ชาวบ้านในละแวกนั้นมาทำพิธีละหมาด 5 ครั้งต่อวัน เรียกว่าการอะซานหรือการบัง ภาษาไทยเลยเรียก มินาเรต ว่าหออะซาน หรือ หอบัง โดยคำว่ามินาเรต มาจากภาษาอาหรับว่า มานารา manara ซึ่งแปลว่าประภาคาร ฉะนั้นหน้าที่ของมินาเรตอีกอย่างคือ ส่องไฟเพื่อบอกทิศทางหรือจุดหมายสำหรับกองคาราวานที่เดินทางยามค่ำคืน และสร้างให้สูงเพื่อให้มองเห็นได้จากที่ไกลๆ ในเวลากลางวัน นอกจากนั้นยังไว้ใช้สังเกตการณ์ เฝ้าดูข้าศึกในยามสงคราม นับว่ามินาเรตเป็นสิ่งคู่กับมัสยิด ก็เหมือนกับโบสถ์คริสต์ที่มักจะมีหอระฆังมาหายใจรดต้นคออยู่เคียงข้างกันนั่นเอง
เราถ่ายภาพ เดินเล่น เฟ้นหามุมสวยๆ จนกระทั่งแสงทไวไลท์สีน้ำเงินได้ถูกแทนที่ด้วยสีดำสนิทของท้องฟ้า และมีดาวที่เปล่งประกายออกมา กับพระจันทร์ดวงโตอีกหนึ่งดวง ที่ควงแขนขึ้นมาพร้อมๆกัน
เมืองนี้เป็นเมืองที่มีสเน่ห์มาก อยากจะอยู่อีกสักคืน หากจะมีสักเหตุผล ที่ทำให้เราต้องมาอุซเบกันอีกครั้ง หนึ่งในเหตุผลนั้นคงหนีไม่พ้นเมืองนี้ บูคารา
แต่ตอนนี้ได้เวลาบอกลา เพื่อกลับไปตั้งนาฬิกาปลุกในวันถัดไป แล้วทำใจเข้านอนซะ วันนี้เราจะนอนพักกันที่โรงแรม Asia Hotel Bukhara ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง พรุ่งนี้เตรียมลุยต่อกับภารกิจข้ามแเดน เพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศเติร์กเมนิสถาน